การธุรกิจ Startup เทรนด์ใหม่มาแรงในประเทศไทย
ธุรกิจ Startup คือ การทำธุรกิจที่มีการสร้างรายได้และมีการขยายธุรกิจอย่างรวดเร็ว ซึ่งโดยทั่วไป ธุรกิจ Startup มีความเสี่ยงว่าจะประสบความสำเร็จในระยะยาวหรือไม่ ธุรกิจ Startup จึงต้องมองหาแหล่งเงินทุนหลายแห่ง เช่น เงินลงทุนของตนเอง หรือจากคนใกล้ตัว แต่แหล่งเงินทุนที่จะมีบทบาทสำคัญ คือ นักลงทุนอิสระที่พร้อมจะเสี่ยงให้ทุน หรือกลุ่ม Angel Investor โดยนักลงทุนกลุ่มนี้มักจะขอมีสัดส่วนการลงทุนในหุ้น นอกจากนี้ แหล่งเงินทุนที่สำคัญอีกแห่งหนึ่ง คือ กลุ่มที่เป็นกองทุนร่วมลงทุน หรือ Venture Capital ซึ่งมักจะเป็นนักลงทุนรายใหญ่หรือสถาบันการเงิน
กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจ Startup อาทิ กฎหมายหุ้นส่วนและบริษัท กฎหมายทรัพย์สินทางปัญญา และกฎหมายเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจที่ตนจะดำเนินการ เช่น เทคโนโลยีทางการเงิน พ.ร.บ ระบบการชำระเงิน พ.ศ. 2560 รวมถึงกฎเกณฑ์ต่าง ๆ ที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของธนาคารแห่งประเทศไทย โดยในปัจจุบัน รัฐบาลได้มีแนวทางในการสนับสนุนธุรกิจ Startup โดยมีแนวคิดที่จะแก้ไขกฎหมายหุ้นส่วนและบริษัท เพื่อช่วยลดอุปสรรคในการประกอบธุรกิจ เช่น ให้มีข้อยกเว้นให้บริษัทจำกัดสามารถเสนอขายหุ้นกับประชาชนได้ภายใต้กฎหมายหลักทรัพย์ ให้ผู้ถือหุ้นสามารถชำระเงินค่าหุ้นโดยหักกับหนี้บริษัทได้ หากทำตามมติพิเศษของที่ประชุมและสอดคล้องกับกฎหมายหลักทรัพย์หรือเป็นกรณีบริษัทปรับโครงสร้างหนี้ตามโครงการแปลงหนี้เป็นทุน และกำหนดให้หุ้นบุริมสิทธิที่ออกให้แก่นักลงทุนหรือเจ้าหนี้สามารถเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขของสิทธิได้และยังสามารถแปลงเป็นหุ้นสามัญได้ นอกจากนั้น ยังแก้ไขให้บริษัทเป็นเจ้าของหุ้นตนเองได้กรณีซื้อหุ้นคืนตามมติพิเศษของผู้ถือหุ้นหากเข้าข้อยกเว้นของกฎหมายหลักทรัพย์ ตลอดจนแก้ไขให้บริษัทสามารถเสนอขายหุ้นให้แก่ผู้บริหาร พนักงานของบริษัท หรือเจ้าหนี้ของบริษัทได้ โดยไม่ต้องเสนอให้แก่ผู้ถือหุ้นเดิมก่อน รวมทั้งให้มีข้อยกเว้นให้บริษัทจำกัดสามารถออกหุ้นกู้ได้ภายใต้กฎหมายหลักทรัพย์ ซึ่งในขณะนี้ พ.ร.บ. แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์เพื่อธุรกิจ Startup ดังกล่าว ได้ผ่านความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรีเรียบร้อยแล้ว โดยปัจจุบันอยู่ระหว่างการตรวจพิจารณาของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ซึ่งหากผ่านการพิจารณาแล้ว จะดำเนินการส่งให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติพิจารณาก่อนตราเป็นกฎหมายบังคับใช้ต่อไป
ฉบับลงวันที่ 14 ธันวาคม 2563