การแสดงความคิดเห็นทางการเมืองผ่านสื่อออนไลน์
คงปฏิเสธไม่ได้ว่าประเด็นที่กำลังถูกพูดถึงกันอย่างมากในสื่อออนไลน์ขณะนี้
คือการแสดงความคิดเห็นทางการเมือง ซึ่งความคิดเห็นเหล่านี้อาจขัดต่อความคิดเห็นของลูกจ้างอื่น ๆ ซึ่งรวมถึงความคิดเห็นของนายจ้างด้วย
การแสดงความคิดเห็นทางการเมืองเป็นสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐาน ซึ่งได้มีการบัญญัติรับรองไว้ในมาตรา 34 แห่งรัฐธรรมนูญไทย ทั้งนี้ ขอบเขตของการแสดงออกนั้นสามารถกระทำได้เท่าที่ไม่ขัดต่อกฎหมาย
ในส่วนของกฎหมายคุ้มครองแรงงานนั้น ไม่ได้มีการกำหนดบทบัญญัติที่จำกัดสิทธิ
และเสรีภาพในเรื่องดังกล่าวไว้ อย่างไรก็ดี การแสดงความคิดเห็นทางการเมือง ลูกจ้างมีข้อควรระวัง ดังต่อไปนี้
1.การใช้สื่อออนไลน์ต้องเป็นไปตามสัญญาจ้างแรงงานและข้อบังคับการทำงาน หากมีการห้ามใช้สื่อออนไลน์ในขณะเวลาทำงาน ลูกจ้างต้องปฏิบัติตาม มิเช่นนั้น
อาจถือเป็นการฝ่าฝืนข้อบังคับการทำงาน ระเบียบ หรือคำสั่งของนายจ้างอันชอบด้วยกฎหมายและเป็นธรรมได้
2.การแสดงความคิดเห็นทางการเมืองต้องไม่เป็นไปในลักษณะยุยง ปลุกปั่น มุ่งให้เกิดความแตกแยก ความไม่สมานฉันท์ในสถานที่ทำงาน อันจะเป็นปฏิปักษ์ในการทำงานร่วมกับผู้อื่นหรือนายจ้าง ส่งผลให้เกิดความไม่สงบในสถานที่ทำงานและกระทบ
การบริหารงานของนายจ้าง
3.การแสดงความคิดเห็นต้องไม่เป็นการพาดพิงบุคคลอื่น ในลักษณะที่อาจทำให้บุคคลอื่นเสื่อมเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น หรือถูกเกลียดชัง โดยลักษณะดังกล่าวอาจเข้าข่ายเป็นการหมิ่นประมาท ตามประมวลกฎหมายอาญาได้ (ฎ. 73/2562)
หากการแสดงความคิดเห็นทางการเมืองของลูกจ้างมีลักษณะดังกล่าว อาจส่งผลให้ลูกจ้างถูกนายจ้างลงโทษทางวินัย รวมไปจนถึงขั้นเลิกจ้างโดยไม่ได้รับค่าชดเชยตามมาตรา 119 ของพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงานได้ ดังนั้น หากลูกจ้างคิดจะโพสอะไรลงบนสื่อออนไลน์ อาจจะต้องใช้ความระมัดระวังและไตร่ตรองให้รอบคอบก่อน มิเช่นนั้น การกระทำของลูกจ้างอาจส่งผลกระทบต่อองค์กร การบริหารงาน และชื่อเสียงของนายจ้างได้
ฉบับลงวันที่ 2 พฤศจิกายน 2563