แนวปฏิบัติเรื่องการคิดดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้และการตัดชำระหนี้ ประโยชน์ที่ลูกหนี้ควรรู้
1.ที่มาของปัญหา
โดยทั่วไปแล้ว การทำสัญญาระหว่างผู้ให้บริการทางการเงินกับผู้ใช้บริการทางการเงินนั้น มักจะเป็นการทำสัญญาที่อยู่บนพื้นฐานของอำนาจในการต่อรองที่ไม่เท่ากัน กล่าวคือ สถาบันการเงินในฐานะผู้ให้บริการทางการเงินนั้นสามารถจะกำหนดเงื่อนไขในการเข้าทำสัญญาที่อาจจะก่อให้เกิดภาระต่อผู้รับบริการทางการเงินหรือลูกหนี้มากจนเกินไป เช่น การกำหนดดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้และค่าธรรมเนียมในการเข้าใช้บริการที่ไม่เป็นธรรมต่อผู้บริโภค ซึ่งธนาคารแห่งประเทศไทย (“ธปท.”) ได้รับข้อร้องเรียนจากประชาชนเป็นจำนวนมากสำหรับกรณีการคิดดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้และวิธีการตัดชำระหนี้ที่ไม่เป็นธรรม ดังนั้น เพื่อช่วยลดการเกิดหนี้ด้อยคุณภาพในระบบการเงิน ลดภาระหนี้ของประชาชน และเพื่อช่วยให้การปรับโครงสร้างหนี้เกิดขึ้นได้ง่ายขึ้น จึงเป็นที่มาของการออกประกาศธปท.ที่ สกส2.9/2563 เรื่อง การคิดดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้และการตัดชำระหนี้ ลงวันที่ 9 ตุลาคม 2563 (“ประกาศ ธปท.”) ซึ่งธปท. เห็นว่าจะช่วยให้ลูกหนี้ได้รับความเป็นธรรมมากขึ้น ซึ่งสาระสำคัญของประกาศดังกล่าวจะได้กล่าวในรายละเอียดในหัวข้อ 2.
2.สรุปสาระสำคัญของประกาศ ธปท.ประกาศ ธปท. จะใช้บังคับเฉพาะกับผู้ให้บริการทางการเงินดังต่อไปนี้
1. สถาบันการเงินตามกฎหมายว่าด้วยธุรกิจสถาบันการเงิน
2. บริษัทในกลุ่มธุรกิจทางการเงินตามประกาศธนาคารแห่งประเทศไทยว่าด้วยหลักเกณฑ์การกำกับดูแลกลุ่มธุรกิจทางการเงินและที่เกี่ยวข้อง ที่ประกอบธุรกิจสินเชื่อส่วนบุคคลภายใต้การ กำกับ สินเชื่อรายย่อยเพื่อการประกอบอาชีพภายใต้การกำกับ ธุรกิจการให้เช่าแบบลีสซิ่ง ธุรกิจการให้ เช่าซื้อ และบริษัทบริหารสินทรัพย์
3. สถาบันการเงินเฉพาะกิจตามกฎหมายว่าด้วยธุรกิจสถาบันการเงินทุกแห่ง โดยหากเป็นธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทยให้ปฏิบัติตามประกาศ ธปท. โดยคำนึงถึงความสอดคล้องกับ
หลักการของศาสนาอิสลาม
4. ผู้ประกอบธุรกิจสินเชื่อส่วนบุคคลภายใต้การกำกับตามประกาศกระทรวงการคลังว่าด้วยกิจการ ที่ต้องขออนุญาตตามข้อ 5 แห่งประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 58 (เรื่องสินเชื่อส่วนบุคคล ภายใต้การกำกับ)
5. ผู้ประกอบธุรกิจสินเชื่อรายย่อยเพื่อการประกอบอาชีพภายใต้การกำกับตามประกาศกระทรวงการคลังว่าด้วยกิจการที่ต้องขออนุญาตตามข้อ 5 แห่งประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 58 (เรื่อง สินเชื่อรายย่อยเพื่อการประกอบอาชีพภายใต้การกำกับ) และ
6. บริษัทบริหารสินทรัพย์ตามกฎหมายว่าด้วยบริษัทบริหารสินทรัพย์
โดยสรุปสาระสำคัญของประกาศ ธปท. นั้น สามารถแบ่งได้เป็น 3 หัวข้อหลัก ได้แก่
2.1 การคิดดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้ ซึ่งให้ใช้กับสินเชื่อที่มีการผ่อนชำระเป็นงวดและสินเชื่อหมุนเวียนสำหรับลูกหนี้รายย่อย และลูกหนี้ธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม
2.1.1 การกำหนดอัตราดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้ โดยแบ่งเป็น 2 กรณี ได้แก่
(1)สำหรับสินเชื่อที่มีการผ่อนชำระเป็นงวดและสินเชื่อหมุนเวียน ให้ใช้อัตราดอกเบี้ยตามสัญญาบวกเพิ่มไม่เกิน 3% ต่อปีโดยส่วนเพิ่มไม่เกิน 3% นั้น ต้องพิจารณาจากปัจจัยต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น ประวัติการชำระหนี้ของลูกหนี้ เป็นต้น จากของเดิมที่ผู้ให้บริการสามารถกำหนดอัตราดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้ได้เองภายใต้กฎหมายที่เกี่ยวข้อง ซึ่งการกำหนดดอกเบี้ยผิดนัดที่สูงเกินไปนั้นอาจเป็นบ่อเกิดให้ลูกหนี้ผิดนัดชำระหนี้เพราะไม่สามารถชำระหนี้ทั้งหมดได้
(2)สำหรับสินเชื่อที่มีกฎหมายกำหนดอัตรารวมสูงสุดของดอกเบี้ย ค่าปรับ ค่าบริการ ค่าธรรมเนียมไว้เป็นการเฉพาะ เช่น สินเชื่อส่วนบุคคลภายใต้การกำกับ ให้ผู้ให้บริการทางการเงินถือปฏิบัติตามกฎหมายเฉพาะนั้นด้วย
2.1.2 ฐานการคำนวณดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้ โดยแบ่งเป็น 2 กรณี ได้แก่
(1)สำหรับสินเชื่อที่มีการผ่อนชำระเป็นงวด ให้คิดดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้บนฐานของเงินต้นที่ผิดนัดจริงเท่านั้น โดยไม่รวมส่วนของเงินต้นในอนาคตที่ยังไม่ถึงกำหนดชำระ จากของเดิมที่จะคำนวณดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้บนฐานของเงินต้นคงค้างทั้งหมด ซึ่งสาเหตุของการแก้ไขนั้นเนื่องจากการผิดนัดชำระหนี้จะเกิดขึ้นได้เมื่อหนี้นั้นถึงกำหนดชำระแล้ว ดังนั้น การคำนวณดอกเบี้ยผิดนัดจึงไม่ควรรวมส่วนของเงินต้นในอนาคตที่ยังไม่ถึงกำหนดชำระเข้าด้วย นอกจากนั้น ระยะเวลาการคิดดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้นั้น ให้คิดจนถึงวันที่ศาลรับฟ้อง โดยก่อนฟ้องคดีต่อศาล ลูกหนี้จะต้องมียอดหนี้ค้างชำระเกินกว่า 90 วันนับแต่วันถึงกำหนดชำระ ยกเว้นกรณีมีเหตุจำเป็นที่มีผลกระทบต่อฐานะของลูกหนี้อย่างมีนัยสำคัญหรืออาศัยอำนาจในข้อสัญญาหรือตามกฎหมาย
(2)สำหรับกรณีสินเชื่อหมุนเวียน ให้คำนวณดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้บนฐานเงินต้นที่ค้างชำระทั้งจำนวน
นอกจากนั้น ประกาศธปท. กำหนดให้มีระยะเวลาผ่อนผันไม่คิดดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้ (grace period) โดยให้เป็นดุลพินิจของผู้ให้บริการทางการเงินในการออกประกาศหลักเกณฑ์บังคับใช้ภายใน
โดยหลักเกณฑ์การคิดดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้แบบใหม่นี้ มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2564 เป็นต้นไป ยกเว้นผู้ประกอบธุรกิจสินเชื่อรายย่อยเพื่อการประกอบอาชีพภายใต้การกำกับตามประกาศกระทรวงการคลังว่าด้วยกิจการที่ต้องขออนุญาตตามข้อ 5 แห่งประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 58 (เรื่องสินเชื่อรายย่อยเพื่อการประกอบอาชีพภายใต้การกำกับ) และบริษัทบริหารสินทรัพย์ตามกฎหมายว่าด้วยบริษัทบริหารสินทรัพย์ที่จะมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2564 เป็นต้นไป
2.2 การกำหนดลำดับการตัดชำระหนี้โดยตัดค่างวดที่ค้างชำระนานที่สุดเป็นลำดับแรก ถือเป็นการตัดชำระหนี้แบบแนวนอน ซึ่งให้ใช้กับสินเชื่อที่มีการผ่อนชำระเป็นงวดและสินเชื่อหมุนเวียนสำหรับลูกหนี้ทุกกลุ่ม (ลูกหนี้รายย่อย ลูกหนี้ธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม และลูกหนี้ธุรกิจขนาดใหญ่) โดยแบ่งเป็น 2 กรณี ได้แก่
(1)กรณีสินเชื่อที่มีการผ่อนชำระเป็นงวด ให้ทำการชำระหนี้ตามยอดหนี้แต่ละงวด โดยให้ตัดค่าธรรมเนียม ดอกเบี้ย และเงินต้นของยอดหนี้ที่ลูกหนี้ค้างชำระนานที่สุดก่อนแล้วจึงตัดยอดหนี้ที่ค้างชำระนานรองลงมาตามลำดับ
(2)กรณีสินเชื่อหมุนเวียน ให้ตัดชำระหนี้โดยการตัดค่าธรรมเนียม ดอกเบี้ย และเงินต้นที่ค้างชำระทั้งหมด จากหลักเกณฑ์เดิมที่เป็นการตัดชำระหนี้แบบแนวตั้ง คือ ตัดดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้ที่ค้างทั้งหมด ดอกเบี้ยที่ค้างทั้งหมด แล้วค่อยตัดเงินต้น ซึ่งวิธีการตัดชำระหนี้แบบใหม่นั้นจะช่วยเพิ่มโอกาสให้ลูกหนี้สามารถตัดหนี้ถึงเงินต้นได้มากขึ้น ซึ่งเป็น การช่วยลดการเกิดหนี้ด้อยคุณภาพ (Non-Performing Loans)
โดยหลักเกณฑ์ลำดับการตัดชำระหนี้นั้น ให้มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2564 เป็นต้นไป
ทั้งนี้ หลักเกณฑ์ในข้อ 2.1-2.2 นั้น จะใช้บังคับเฉพาะกับสินเชื่อที่มีการผ่อนชำระเป็นงวด โดยไม่รวมการให้เช่าซื้อรถยนต์และรถจักรยานยนต์ตามประกาศคณะกรรมการว่าด้วยสัญญา เรื่อง ให้ธุรกิจให้เช่าซื้อรถยนต์และรถจักรยานยนต์เป็นธุรกิจที่ควบคุมสัญญา และให้ใช้บังคับกับสินเชื่อหมุนเวียนโดยไม่รวมผลิตภัณฑ์บัตรเครดิต
นอกจากนั้น ธปท. ยังกำหนดให้ผู้ให้บริการทางการเงินนำหลักเกณฑ์การคิดดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้และหลักเกณฑ์ลำดับการตัดชำระหนี้มาใช้กับกรณีลูกหนี้ปรับปรุงโครงสร้างหนี้ที่มีการผิดนัดชำระหนี้ระหว่างปรับปรุงโครงสร้างหนี้ด้วย
2.3 ผลกระทบของลูกหนี้จากประกาศธปท. ฉบับใหม่
หลักเกณฑ์ข้างต้นมีผลบังคับใช้โดยอัตโนมัติ ส่งผลให้ลูกหนี้ไม่ต้องไปขอแก้ไขสัญญาที่สาขาของผู้ให้บริการทางการเงินแต่อย่างใด นอกจากนั้น กรณีลูกหนี้ผิดนัดชำระหนี้ก่อน 1 เมษายน 2564 ผู้ให้บริการทางการเงินสามารถพิจารณานำหลักเกณฑ์ดังกล่าวมาใช้พิจารณาผ่อนปรนดอกเบี้ยให้ลูกหนี้ตามเห็นสมควร