การขออนุญาติปลูกและใช้ประโยชน์จากกัญชา (5/4/2564)

การขออนุญาติปลูกและใช้ประโยชน์จากกัญชา

ตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 และที่แก้ไขเพิ่มเติม (“พ.ร.บ. ยาเสพติดให้โทษ”) กัญชา พืชในตระกูล cannabis และวัตถุหรือสารต่าง ๆ ที่มีอยู่ในพืชกัญชา (เฉพาะส่วนที่ไม่ได้รับการยกเว้นตามกฎหมาย) จัดเป็นยาเสพติดให้โทษประเภท 5 ซึ่งการผลิต ปลูก จำหน่าย นำเข้า ส่งออก มีไว้ครอบครอง หรือโฆษณาต้องได้รับอนุญาตจากเจ้าหน้าที่[1] มิฉะนั้นจะมีโทษตามกฎหมาย อย่างไรก็ดี เมื่อเดือนธันวาคม พ.ศ. 2563 กระทรวงสาธารณสุขได้ประกาศยกเว้นให้เกือบทุกส่วนของกัญชาไม่เข้าข่ายเป็นยาเสพติดให้โทษประเภท 5 อีกต่อไป ทั้งนี้ ต้องเป็นส่วนของกัญชาที่ไม่ใช่ช่อดอก ใบที่ติดกับช่อดอก หรือเมล็ดกัญชา และเป็นส่วนที่ได้รับมาจากผู้ผลิตที่ได้รับอนุญาตให้ปลูกในประเทศแล้วเท่านั้น[2]

ปัจจุบันการปลูกกัญชา กฎหมายกำหนดให้กระทำได้เฉพาะกรณีมีวัตถุประสงค์เพื่อประโยชน์ของทางราชการ การแพทย์ การรักษาผู้ป่วย หรือการศึกษาวิจัยและพัฒนาเท่านั้น[3] โดยที่ผู้ขอรับอนุญาตจะต้องเป็นบุคคลสัญชาติไทยและมีถิ่นที่อยู่ในประเทศไทย หากเป็นนิติบุคคลต้องจดทะเบียนตามกฎหมายไทยและกรรมการของนิติบุคคล หุ้นส่วนหรือผู้ถือหุ้น อย่างน้อยสองในสามต้องเป็นผู้มีสัญชาติไทย และมีสำนักงานในประเทศไทย รวมทั้งต้องมีคุณสมบัติตามที่กฎหมายกำหนด เช่น (1) เป็นหน่วยงานของรัฐที่มีหน้าที่ศึกษาวิจัยหรือจัดการเรียนการสอนทางการแพทย์ (2)
เป็นผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม วิชาชีพแพทย์แผนไทย (3) เป็นสถาบันอุดมศึกษาตามกฎหมายว่าด้วยสถาบันอุดมศึกษาที่มีหน้าที่ศึกษาวิจัยและจัดการเรียนการสอนเกี่ยวกับทางการแพทย์ (4) เป็นผู้ประกอบอาชีพเกษตรกรรมที่รวมกลุ่มเป็นวิสาหกิจชุมชนที่ได้จดทะเบียนตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมวิสาหกิจชุมชนและดำเนินการภายใต้ความร่วมมือและกำกับดูแลของหน่วยงานของรัฐหรือสถาบันอุดมศึกษาที่ได้รับอนุญาต เป็นต้น[4] อย่างไรก็ดี พ.ร.บ. ยาเสพติดให้โทษกำหนดว่าภายในระยะเวลาห้าปี นับแต่วันที่ 19 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2564 การขอรับใบอนุญาตนั้นจะต้องดำเนินการโดยหน่วยงานของรัฐหรือเป็นการดำเนินการร่วมกับผู้ขออนุญาตที่เป็นหน่วยงานของรัฐตามที่พ.ร.บ. ยาเสพติดให้โทษกำหนดเท่านั้น [5]

ในเรื่องการขอรับใบอนุญาตและการออกใบอนุญาตการปลูกกัญชานั้น พ.ร.บ. ยาเสพติดให้โทษกำหนดให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กำหนดในกฎกระทรวง ซึ่งในขณะนี้ยังไม่มีการออกกฎดังกล่าวมาบังคับใช้ ดังนั้นการขออนุญาตในช่วงระยะเวลานี้จึงเป็นไปตามแนวทางการปฏิบัติซึ่งประกาศโดยกระทรวงสาธารณสุข เช่น ผู้ขออนุญาตต้องจัดเตรียมความพร้อมในด้านต่าง ๆ
ไม่ว่าจะเป็น สถานที่ การรักษาความปลอดภัย การเก็บรักษา การควบคุมการใช้ ผู้ขออนุญาตจะต้องยื่นแผนการผลิต จำหน่าย การใช้ประโยชน์ รวมถึงการทำลายส่วนต่าง ๆ ของกัญชา นอกจากนี้ เมื่อได้รับอนุญาตแล้ว ผู้ได้รับอนุญาตยังต้องจัดทำบัญชีรับจ่าย เพื่อบันทึกข้อมูลการรับ-จ่ายส่วนของกัญชาและรายงานผลผลิตและติดตามการใช้แต่ละส่วนของกัญชาจากต้นทางสู่ปลายทางกับ
ทางสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา กระทรวงสาธารณสุขด้วย[6]

ด้วยเหตุนี้ แม้ว่าบางส่วนของกัญชาที่ไม่จัดเป็นยาเสพติดให้โทษตามกฎหมาย เช่น เปลือก ลำต้น เส้นใย ราก ใบซึ่งไม่มียอดหรือช่อดอกติดมาด้วย เป็นต้น จะสามารถจำหน่าย นำไปแปรรูป หรือนำไปใช้ประโยชน์ได้โดยไม่ต้องได้รับอนุญาตอีก แต่กฎหมายก็ได้ระบุไว้ว่าส่วนนั้น ๆ จะต้องเป็นส่วนที่ได้รับมาจากผู้ผลิตที่ได้รับอนุญาตให้ปลูกในประเทศแล้วเท่านั้น ดังนั้น หากท่านประสงค์จะนำบางส่วนของกัญชาที่ไม่จัดเป็นยาเสพติดให้โทษตามกฎหมายไปจำหน่าย แปรรูป หรือใช้ประโยชน์ ควรตรวจสอบให้แน่ใจว่าส่วนของกัญชาที่จะนำมาใช้นั้นมาจากผู้ผลิตที่ได้รับอนุญาตตามกฎหมายแล้ว และจัดให้มีหลักฐานสำหรับการตรวจสอบ เช่น สำเนาใบอนุญาตปลูกกัญชาของผู้ผลิต เป็นต้น

ฉบับวันที่ 5 เมษายน 2564