การลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัล (15/3/2564)

การลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัล

พระราชกำหนดการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล พ.ศ. 2561 ได้กำหนดให้ “สินทรัพย์ดิจิทัล” มีอยู่ 2 ชนิด อันได้แก่ คริปโทเคอร์เรนซี (Cryptocurrency) และ โทเคนดิจิทัล (Token Digital)

Cryptocurrency ตามพระราชกำหนด หมายถึง หน่วยอิเล็กทรอนิกส์ที่เป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยนสินค้า บริการ หรือสิทธิอื่นใด หรือแลกเปลี่ยนระหว่างสินทรัพย์ดิจิทัล โดยปัจจุบัน Cryptocurrency อันเป็นที่นิยม คือ Bitcoin (BTC) และ Ethereum (ETH) ซึ่งเป็นที่ยอมรับโดยสำนักงาน ก.ล.ต. ให้สามารถออกและเสนอขายได้

ส่วน Token Digital เป็นหน่วยอิเล็กทรอนิกส์อีกชนิดหนึ่งที่มีไว้เพื่อแสดงสิทธิระหว่างผู้ออกและผู้ถือ เช่น สิทธิในการลงทุน (Investment Token) หรือสิทธิในการได้มาซึ่งสินค้าหรือบริการ หรือสิทธิอื่นใดที่มีการระบุไว้เป็นการเฉพาะตามข้อตกลงระหว่างผู้ออกและผู้ถือ (Utility Token)

กิจกรรมหลักที่อยู่ภายใต้พระราชกำหนดการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล ได้แก่

1. การเสนอขายโทเคนดิจิทัลต่อประชาชน หรือ Initial Coin Offering (ICO) โดยผู้ระดมทุนจะต้องเป็นนิติบุคคลที่ได้รับอนุญาตให้ออกและเสนอขายจากสำนักงาน ก.ล.ต. โดยผู้ระดมทุนจะเสนอขาย “โทเคนดิจิทัล” ที่กำหนดสิทธิต่าง ๆ ของผู้ลงทุนผ่านระบบบล็อกเชน (Blockchain) ต่อสาธารณชน เพื่อนำมาแลกกับ Cryptocurrency

2. การให้บริการเป็นตัวกลางในการซื้อขายแลกเปลี่ยนสินทรัพย์ดิจิทัล (ตลาดรอง) หรือการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล ซึ่งได้แก่ การประกอบธุรกิจศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล นายหน้าซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล หรือผู้ค้าสินทรัพย์ดิจิทัล โดยผู้ที่ให้บริการเป็นตัวกลางในการซื้อขายนั้น จะต้องได้รับอนุญาตจากกระทรวงการคลัง และจะต้องมีมาตรฐานตามเกณฑ์ที่สำนักงาน ก.ล.ต. กำหนด

การออกและเสนอขายสินทรัพย์ดิจิทัล แม้จะได้รับอนุญาตจากสำนักงาน ก.ล.ต. แล้วก็ตาม ผู้ลงทุนควรศึกษาข้อมูลรายละเอียดด้วยความระมัดระวังเป็นอย่างสูง เนื่องจากสินทรัพย์ดิจิทัลเป็นการลงทุนในรูปแบบใหม่ ที่มักเป็นการลงทุนในธุรกิจ Startup ที่มีความเสี่ยงสูงเพราะอาจไม่ประสบความสำเร็จในอนาคต ส่งผลให้ผู้ลงทุนจะต้องเสียเงินลงทุนทั้งจำนวน นอกจากนี้ ผู้ลงทุนจะได้รับสิทธิตามที่ผู้ออก ICO กำหนด โดยที่ไม่มีฐานะเป็นผู้ถือหุ้นหรือเจ้าหนี้ของบริษัท ซึ่งส่งผลให้ผู้ลงทุนไม่ได้เป็นเจ้าของของบริษัทหรือไม่มีสิทธิที่จะได้รับเงินคืน

นอกจากนี้แล้ว ผู้ลงทุนควรจะต้องทราบถึงวัตถุประสงค์ของการระดมทุน โดยศึกษาเอกสารประกอบการขาย (หรือ White Paper) รวมถึงทำความเข้าใจในสิทธิที่จะได้รับจากการลงทุนและความเสี่ยงที่เกี่ยวข้อง สิ่งที่สำคัญ คือ ผู้ลงทุนจะได้รับการคุ้มครองตามกฎหมาย หากบริษัทที่จะเข้าลงทุนนั้นได้รับอนุญาตให้ออกและเสนอขาย ICO ตามกฎหมายแล้ว โดยผู้ลงทุนควรตรวจสอบข้อมูลของบริษัทดังกล่าวก่อนที่จะลงทุน หรือหากเป็นการซื้อขายผ่านตัวกลาง ผู้ลงทุนก็ควรตรวจสอบว่าตัวกลางดังกล่าวได้รับใบอนุญาตให้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลแล้วหรือไม่

ฉบับวันที่ 15 มีนาคม 2564