การลงทุนใน สปป. ลาว : สัญญาปากเปล่า

การลงทุนใน สปป. ลาว : สัญญาปากเปล่า

การเข้ามาลงทุนใน สปป. ลาว โดยทั่วไปจะมีการตกลงทำสัญญาทางธุรกิจกับคู่ค้าใน สปป. ลาว คำถามสำคัญที่เกิดขึ้น คือ ข้อตกลงทางธุรกิจดังกล่าวจำเป็นต้องทำเป็นลายลักษณ์อักษรหรือไม่ หรือคู่สัญญาเพียงทำสัญญาปากเปล่าก็เพียงพอแล้ว

รัฐบาลลาวมีนโยบายส่งเสริมให้บุคคลทำสัญญาเป็นลายลักษณ์อักษรมากกว่า
การทำสัญญาปากเปล่า เพื่อเป็นหลักฐานว่าคู่สัญญาจะปฏิบัติตามข้อตกลง
อย่างถูกต้องและครบถ้วน ดังนั้น โดยหลักการแล้ว การทำนิติกรรมใด ๆ ของบริษัทห้างร้าน กฎหมายจะกำหนดให้เป็นลายลักษณ์อักษร แต่หลายท่านอาจมีคำถามว่า ถ้าบริษัทจะทำนิติกรรมเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่เป็นเรื่องทั่วไป เช่น ซื้อสมุดปากกาในปริมาณที่ไม่ได้เป็นสาระสำคัญ จะต้องกระทำเป็นลายลักษณ์อักษรด้วยหรือ ซึ่งคำตอบก็คือจำเป็นต้องทำเพื่อให้เป็นไปตามกฎหมาย แต่เนื่องด้วยความเสี่ยงต่ำที่จะเกิดขึ้นจากการผิดสัญญาเนื่องจากการซื้อของเล็กน้อยดังกล่าวที่จะทำให้ต้องมีการขึ้นศาล คู่สัญญาหลาย ๆ ท่านก็คงไม่ได้ทำสัญญาเป็นลายลักษณ์อักษรแต่อย่างใด

อย่างไรก็ตาม บางครั้งความคุ้นชินกับการทำสัญญาปากเปล่า เข้ามากำหนดพฤติกรรมในการทำนิติกรรมที่มีความสลับซับซ้อนมากขึ้น จึงมีหลายครั้งที่คู่สัญญาละเลยไม่ทำสัญญาเป็นลายลักษณ์อักษร เพียงเพื่อความสะดวกหรือเชื่อใจกันและกัน นอกจากจะไม่ถูกต้องตามกฎหมายแล้ว ก็ยังเป็นการเพิ่มความเสี่ยง
ในกรณีของการผิดสัญญาและการบังคับตามเงื่อนไขที่ตกลงกันไว้ เพราะเมื่อผิดข้อตกลง ฝ่ายที่เสียเปรียบย่อมปราศจากหลักฐานที่จะใช้บังคับกันในศาล โอกาสที่จะเกิดความเสียหายก็จะมีมากขึ้น แม้กฎหมายลาวจะเปิดโอกาสให้นักลงทุนสามารถ
ทำสัญญาปากเปล่าได้ในบางกรณี แต่นักลงทุนควรทำสัญญาเป็นลายลักษณ์อักษรเพื่อให้เกิดความชัดเจน และครอบคลุมถึงเจตนารมณ์ของคู่สัญญาทุกประการ
เพื่อใช้เป็นหลักฐานในกรณีหากมีข้อพิพาทกันภายหลัง

เมื่อนักลงทุนไทยจะเข้าทำสัญญาทางธุรกิจกับคู่ค้าใน สปป. ลาว นักลงทุน
ควรศึกษากฎหมายของ สปป. ลาว ที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจนั้น ๆ รวมถึงแนวทางปฏิบัติของหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องอย่างลึกซึ้ง เพื่อที่นักลงทุนไทยจะปฏิบัติตามกฎหมายได้อย่างถูกต้องและได้รับการคุ้มครองตามกฎหมายของ สปป. ลาว

ฉบับลงวันที่ 13 พฤศจิกายน 2563