สิทธิเก็บกิน

สิทธิเก็บกิน

สิทธิเก็บกิน เป็นทรัพยสิทธิประเภทหนึ่ง ซึ่งเจ้าของอสังหาริมทรัพย์ยอมให้บุคคลอื่น

มีสิทธิครอบครอง ใช้และถือเอาประโยชน์จากอสังหาริมทรัพย์นั้นตลอดจนมีอำนาจจัดการ เช่น อำนาจในการให้เช่าอสังหาริมทรัพย์และหาประโยชน์ต่าง ๆ บนทรัพย์สินนั้น ซึ่งบุคคลที่จะได้ประโยชน์จากสิทธิเก็บกินนี้ คือ ผู้ทรงสิทธิเก็บกิน โดยสิทธิเก็บกินจะมีค่าตอบแทนแก่เจ้าของอสังหาริมทรัพย์หรือไม่ก็ได้ แต่!!! ผู้ทรงสิทธิเก็บกินไม่มีอำนาจห้ามไม่ให้เจ้าของโอนกรรมสิทธิ์ในอสังหาริมทรัพย์นั้น และแม้จะโอนกรรมสิทธิ์ไปแล้ว สิทธิเก็บกินนั้นจะยังคงมีอยู่ ผู้ทรงสิทธิเก็บกินสามารถใช้ยันบุคคลภายนอกได้เป็น
การทั่วไป

การก่อตั้งและการโอนสิทธิเก็บกิน

สิทธิเก็บกินจะเกิดขึ้นได้ จะต้องทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อเจ้าหน้าที่ซึ่งจะมีกำหนดเวลาหรือไม่ก็ได้ หรือจะกำหนดไว้ตลอดอายุของผู้ทรงสิทธิก็ได้ แต่หากกำหนดไว้เกิน 30 ปี ต้องลดลงเหลือ 30 ปี และต่ออายุได้อีกคราวละไม่เกิน 30 ปีโดยสิทธิเก็บกินสามารถโอนต่อไปได้ เว้นแต่จะมีการกำหนดห้ามไว้ในหนังสือก่อตั้งสิทธิเก็บกิน

อสังหาริมทรัพย์ที่ตกอยู่ในบังคับแห่งสิทธิเก็บกิน

ผู้ทรงสิทธิมีหน้าที่บำรุงรักษาทรัพย์สิน รวมทั้งซ่อมแซมเล็กน้อย และออกค่าใช้จ่ายในการจัดการทรัพย์สินและค่าภาษีอากร เช่น ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง นอกจากนี้ เจ้าของทรัพย์สินสามารถเรียกให้ผู้ทรงสิทธิเอาทรัพย์สินประกันวินาศภัยเพื่อประโยชน์แก่เจ้าของทรัพย์สินได้ โดยผู้ทรงสิทธิจะเป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายในเบี้ยประกันภัย

ความระงับแห่งสิทธิเก็บกิน

1.ครบระยะเวลาที่กำหนด

2.คู่สัญญาทำนิติกรรมระงับสิทธิก่อนครบระยะเวลา

3.ผู้ทรงสิทธิเก็บกินถึงแก่ความตาย แต่!!! กรณีนี้จะไม่กระทบต่อสิทธิของบุคคลภายนอก เช่น หากมีการทำสัญญาเช่ากับบุคคลภายนอกไว้ และผู้ทรงสิทธิเก็บกินตายในระหว่างอายุสัญญาเช่าซึ่งเป็นผลให้สิทธิเก็บกินระงับสิ้นไป
จะไม่กระทบถึงสิทธิของคู่สัญญาซึ่งเป็นบุคคลภายนอก โดยไม่มีผลทำให้
สัญญาเช่าดังกล่าวสิ้นสุดลงแต่อย่างใด

4.เมื่อทรัพย์สินสลายไปทั้งหมด และพ้นวิสัยจะกลับคืนได้

โดยผลเมื่อสิทธิเก็บกินระงับสิ้นไป สิทธิต่าง ๆ ที่เกิดบนทรัพย์สินนั้นจะกลับคืนสู่เจ้าของ

ฉบับลงวันที่16 พฤศจิกายน 2563