แก้ไขประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (“ปพพ.”) ปรับลดอัตราดอกเบี้ย และกำหนดวิธีคิดดอกเบี้ย (28/4/2564)

***แก้ไขประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (“ปพพ.”) ปรับลดอัตราดอกเบี้ย และกำหนดวิธีคิดดอกเบี้ย***

พ.ร.ก. แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ พ.ศ. 2664 ที่เพิ่งประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 10 เมษายน พ.ศ. 2564 (“พ.ร.ก. ปี 64”) นั้น มีผลเป็นการแก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 7 และมาตรา 224 ของ ปพพ. เรื่องการคิดดอกเบี้ย เพื่อให้เป็นธรรมแก่ลูกหนี้มากยิ่งขึ้น และสอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจในปัจจุบัน โดยขอสรุปแยกเป็นประเด็นที่สำคัญ ดังนี้


1. ดอกเบี้ยทั่วไปตามกฎหมาย

เดิม ในกรณีทั่วไป หากคู่สัญญาตกลงให้มีการคิดดอกเบี้ยระหว่างกันแต่ไม่มีการตกลงอัตราดอกเบี้ยกันไว้ ลูกหนี้จะต้องชำระดอกเบี้ยแก่เจ้าหนี้ในอัตรา 7.5% ต่อปี ซึ่งเป็นอัตราคงที่ตามมาตรา 7 เดิม ของ ปพพ. ที่มีผลบังคับใช้มากว่า 95 ปีแล้ว ซึ่งจากการสำรวจของคณะกรรมการพัฒนากฎหมาย สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา อัตราดอกเบี้ย 7.5% ต่อปี ดังกล่าวนั้นได้กำหนดขึ้น ณ เวลาที่อัตราดอกเบี้ยเงินฝากในกรณีทั่วไป ณ เวลานั้นสูงกว่า 10% ต่อปีเลยทีเดียว

แต่ตาม พ.ร.ก. ปี 64 นั้น อัตราดอกเบี้ยทั่วไปนั้นจะถูกปรับลดลงมาเหลือ 3% ต่อปี (ซึ่งสอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจของประเทศในปัจจุบัน) และยังกำหนดให้กระทรวงการคลังจะต้องพิจารณาทบทวนอัตราดอกเบี้ยทั่วไปดังกล่าวทุกๆ 3 ปี เพื่อให้อัตราดอกเบี้ยนั้นใกล้เคียงกับอัตราเฉลี่ยระหว่างอัตราดอกเบี้ยเงินฝากกับอัตราดอกเบี้ยกู้ยืมของธนาคารพาณิชย์ด้วย


2. ดอกเบี้ยผิดนัดตามกฎหมาย

เดิม ในกรณีที่ลูกหนี้ผิดนัดในหนี้เงิน หากมิได้กำหนดอัตราดอกเบี้ยผิดนัดกันไว้ ลูกหนี้จะต้องชำระดอกเบี้ยผิดนัดในอัตรา 7.5% ต่อปี ตามมาตรา 224 เดิมของ ปพพ.

แต่ตาม พ.ร.ก. ปี 64 นั้น อัตราดอกเบี้ยผิดนัดจะเท่ากับอัตราดอกเบี้ยทั่วไปตามกฎหมายบวกด้วยอัตราเพิ่ม 2% ต่อปี (เท่ากับ ปัจจุบัน อัตราดอกเบี้ยผิดนัดตามกฎหมายคือ 3% + 2% = 5% ต่อปี ตลอดระยะเวลาที่ผิดนัด) ซึ่งจะช่วยลดภาระให้แก่ลูกหนี้ได้เป็นอย่างมาก


3. กำหนดวิธีการคิดดอกเบี้ย

พ.ร.ก. ปี 64 ได้เพิ่มมาตรา 224/1 ใน ปพพ. กำหนดว่าในกรณีที่ลูกหนี้จะต้องชำระหนี้เป็นรายงวด เจ้าหนี้จะต้องคำนวณดอกเบี้ยผิดนัดเฉพาะจากจำนวนต้นเงินที่ลูกหนี้ผิดนัดชำระนี้งวดนั้นๆ เท่านั้น (ไม่ใช่จากต้นเงินที่ค้างชำระอยู่ ณ เวลานั้นทั้งหมด) ข้อตกลงใดที่ขัดกับมาตรานี้จะตกเป็นโมฆะ ใช้บังคับระหว่างกันไม่ได้อีกต่อไป


4. ผลบังคับใช้

พ.ร.ก.ปี 64 นี้มีผลบังคับใช้ในวันที่ 11 เมษายน พ.ศ. 2564 เป็นต้นไป โดยอัตราดอกเบี้ยใหม่ข้างต้นจะใช้แก่การคิดดอกเบี้ยที่ถึงกำหนดเวลาชำระหนี้ตั้งแต่วันที่ 11 เมษายน พ.ศ. 2564 เป็นต้นไป