Regulatory Sandbox – นวัตกรรมทางการเงินใหม่ๆ ของคนไทย
ปัจจุบันผู้คนมากมายเลือกที่จะโอนเงินผ่านแอปพลิเคชันของธนาคารแทนการเดินทางไปธนาคารเพื่อฝากและถอนเงิน เราจึงปฏิเสธไม่ได้ว่าเรากำลังอยู่ในยุคที่ขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยี ซึ่งในบางครั้งส่งผลให้กฎหมายใช้บังคับอยู่นั้นล้าหลังและไม่ทันต่อการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี โดยธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เล็งเห็นถึงความสำคัญในการพัฒนานวัตกรรมด้านเทคโนโลยีที่สนับสนุนการให้บริการทางการเงิน (Financial Technology หรือ FinTech) เนื่องจากจะเป็นผลดีต่อผู้บริโภค เพราะสามารถเข้าถึงการบริการทางการเงินที่สะดวกและรวดเร็ว อย่างไรก็ดี การใช้เทคโนโลยียังคงมีความเสี่ยง ธปท. จึงวางแนวปฏิบัติที่เรียกว่า Regulatory Sandbox ซึ่งจะใช้บังคับกับผู้ให้บริการทางการเงิน ซึ่งได้แก่ สถาบันทางการเงิน, Non-Banks, ผู้ประกอบธุรกิจ FinTech รวมทั้งผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยี FinTech
กลไกของ Regulatory Sandbox คือ การเปิดโอกาสผู้ให้บริการทางการเงินสามารถทดสอบการให้บริการ FinTech โดยจะต้องอยู่ในขอบเขตที่จำกัด เช่น การจำกัดกลุ่มลูกค้าเป้าหมาย จำนวนลูกค้า ปริมาณธุรกรรม ระยะเวลาการทดสอบ อีกทั้งจะต้องอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของธปท. ในลักษณะใดลักษณะหนึ่ง เช่น เป็นบริการทางการเงินที่ทดสอบร่วมกันเพื่อพัฒนาเป็นโครงสร้างพื้นฐานหรือมาตรฐานกลางสำหรับภาคการเงินไทย หรือมีกฎหมายหรือหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการทดสอบใน Regulatory Sandbox ตามแนวปฏิบัติของธปท. หรือผู้ให้บริการทางการเงินสามารถกำหนดลักษณะนวัตกรรมที่จะทดสอบใน Own Sandbox และกระบวนการภายในเพื่อดูแลความเสี่ยงระหว่างการทดสอบ โดยผ่านความเห็นชอบของคณะกรรมการที่ได้รับมอบหมาย
ในปัจจุบันนี้ มีโครงการของผู้ให้บริการทางการเงินหลายโครงการที่เข้าร่วม Regulatory Sandbox ได้แก่ โครงการการใช้เทคโนโลยีการจดจำใบหน้า (Facial Recognition) ในกระบวนการ KYC/ E-KYC สำหรับกรณีลูกค้ามาเปิดบัญชีที่สาขาธนาคาร โดยแต่เดิมจะต้องใช้พนักงานในการพิจารณาเปรียบเทียบหน้าลูกค้ากับรูปในบัตรประชาชน หากใช้ Facial Recognition จะเป็นการถ่ายรูปลูกค้า เปรียบเทียบกับรูปในบัตรประชาชนด้วยระบบ Facial Recognition แทน หรือโครงการ Standardized QR Code ซึ่งเป็นการชำระเงินด้วยมาตรฐาน Thai QR Code โดยมีการออกใช้งานจริงแล้วบางโครงการ เช่น QR Code ผ่าน Promptpay และผ่าน Credit/Debit Card หรือโครงการจัดทำหนังสือค้ำประกันโดยใช้เทคโนโลยี Blockchain แทนการจัดทำหนังสือค้ำประกันแบบดั้งเดิม และโครงการล่าสุด ซึ่งได้แก่ การขยายการทดสอบการยืนยันตัวตนทางดิจิทัลข้ามหน่วยงานผ่าน National Digital ID Platform หรือ NDID) โดยเป็นการขยายจากภาคธนาคารพาณิชย์สู่บริการในภาคตลาดทุน ประกันภัย และการขอข้อมูลเครดิต ตั้งแต่วันที่ 9 พฤศจิกายน 2563 ซึ่งทำให้ประชาชนสามารถเปิดบัญชีซื้อขายหลักทรัพย์หรือบัญชีกองทุน ซื้อกรมธรรม์ประกันภัย และขอข้อมูลจากบริษัทข้อมูลเครดิตแห่งชาติผ่านทางช่องทางดิจิทัล เช่น โมบายแอปพลิเคชั่นของผู้ให้บริการ โดยใช้การพิสูจน์และยืนยันตัวตนจากธนาคารที่ตนเองเคยเปิดบัญชีเงินฝากและถ่ายรูปโดยใช้ Facial Recognition ไว้แล้ว
ฉบับวันที่ 29 มีนาคม 2564