การลงทุนใน สปป. ลาว : การลงทุนเพียงลำพังหรือการร่วมลงทุน

การลงทุนใน สปป. ลาว : การลงทุนเพียงลำพังหรือการร่วมลงทุน

เมื่อนักลงทุนตัดสินใจลงทุนใน สปป.ลาว ประเด็นถัดมาที่ต้องพิจารณา คือ นักลงทุนควรจะดำเนินธุรกิจด้วยตนเองเพียงลำพัง หรือลงทุนร่วมกับพลเมือง สปป. ลาว หรือคนในท้องถิ่น สำหรับนักลงทุนบางรายที่ประสงค์จะลงทุนเอง สิ่งที่ต้องคำนึงถึง

คือ การขาดความรู้และข้อมูลที่ทันต่อสถานการณ์ ไม่ว่าในแง่ของสภาวะตลาดภายใน สปป. ลาว สภาพเศรษฐกิจ หรือกฎหมาย เนื่องจากข้อมูลเหล่านี้มีการเปลี่ยนแปลง
อยู่ตลอดเวลา และเป็นการยากสำหรับนักลงทุนต่างชาติที่จะได้รับข้อมูลอย่างทันท่วงทีหากไม่มีบุคคลในท้องถิ่นร่วมลงทุนด้วย นอกจากนี้ นักลงทุนต่างชาติอาจประสบปัญหาในการติดต่อหน่วยงานราชการเนื่องจากมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับระบบราชการและระบบกฎหมายของ สปป. ลาว ไม่เพียงพอ สำหรับนักลงทุนที่สนใจจะลงทุนร่วมกับคนท้องถิ่นนั้น ประเด็นที่ต้องพิจารณาในลำดับต้น ๆ คือ การกำหนดรูปแบบความสัมพันธ์ทางธุรกิจระหว่างผู้ร่วมลงทุน เช่น การแบ่งสัดส่วนผลประโยชน์และ
การบริหารงาน เพื่อป้องกันความขัดแย้งที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต โดยรูปแบบองค์กรทางธุรกิจตามกฎหมายของ สปป. ลาว มีอยู่หลากหลายรูปแบบ เช่น ห้างหุ้นส่วน บริษัท ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับความต้องการและความเหมาะสมต่อธุรกิจของนักลงทุนแต่ละราย

อย่างไรก็ดี ไม่เพียงแต่ปัจจัยเรื่องทุนและผลประโยชน์ในเชิงธุรกิจที่นักลงทุนต้องพิจารณา ธุรกิจบางประเภทอาจมีข้อจำกัดในทางกฎหมาย เช่น ธุรกิจค้าส่ง (Wholesale) และค้าปลีก (Retail) ที่กฎหมายกำหนดให้ต้องมีทุนจดทะเบียนอย่างน้อย 4 พันล้านกีบ (หรือประมาณ 13.5 ล้านบาท โดยใช้อัตราแลกเปลี่ยนเฉลี่ยอยู่ที่ 295
กีบลาวต่อ 1 บาท) โดยหากนักลงทุนต้องการจัดตั้งบริษัทแบบไม่ต้องการมีหุ้นส่วนที่เป็นคนท้องถิ่นร่วมลงทุนด้วยเลย ทุนจดทะเบียนของบริษัทขั้นต่ำตามกฎหมายจะอยู่ที่
2 หมื่นล้านกีบลาว (ประมาณ 68 ล้านบาท) มิเช่นนั้นแล้ว นักลงทุนจะต้องหาหุ้นส่วนลาวมาร่วมลงทุนด้วย โดยกฎหมายจะกำหนดสัดส่วนการถือหุ้นของนักลงทุนต่างชาติต่อหุ้นส่วนลาวตามจำนวนทุนจดทะเบียนของบริษัท

กล่าวโดยสรุป ผู้ลงทุนควรพิจารณาข้อดีและข้อด้อยของการลงทุนอย่างรอบคอบ รวมทั้งพิจารณาปัจจัยภายนอก เช่น กฎหมายที่ใช้บังคับ รวมถึงความเปลี่ยนแปลงของกฎหมายที่ใช้บังคับกับแต่ละธุรกิจ

ฉบับลงวันที่ 30 ตุลาคม 2563