ลูกจ้างผิดฐานลักทรัพย์เพราะเอาข้อมูลบริษัทหรือไม่

ลูกจ้างผิดฐานลักทรัพย์เพราะเอาข้อมูลบริษัทหรือไม่

ลูกจ้างรายหนึ่งทำงานมาเป็นสิบ ๆ ปี ตัดสินใจลาออกจากงาน ตอนออกก็ได้นำฮาร์ดดิสก์มาเก็บผลงานของตนที่ได้ทำให้ไว้กับบริษัทออกไปด้วย เนื่องจากเป็นผลงาน ความรู้ และประสบการณ์ที่สั่งสมมา ข้อมูลดังกล่าวเป็นข้อมูลของนายจ้างเนื่องจากเป็นการงานที่ได้ทำไปในกิจการของนายจ้าง เว้นแต่จะพิสูจน์ได้เป็นอย่างอื่น

ในเรื่องนี้เคยมีคดีขึ้นสู่ศาลว่า การที่ลูกจ้างนำแผ่นบันทึกข้อมูลมาคัดลอกข้อมูลจากเครื่องคอมพิวเตอร์ของนายจ้าง โดยข้อมูลดังกล่าว มีรูปร่างเป็นตัวอักษร ภาพ แผนผัง และตราสาร ควรถือเป็นทรัพย์ตามกฎหมายหรือไม่ และการที่ลูกจ้างเอาข้อมูลดังกล่าวไป ควรถือเป็นความผิดฐานลักทรัพย์ด้วยหรือไม่ ในกรณีนี้ ศาลฎีกาได้มีคำวินิจฉัยไว้ว่า ข้อมูลตามพจนานุกรมหมายถึง ข้อเท็จจริงหรือสิ่งที่ถือหรือยอมรับว่าเป็นข้อเท็จจริง ข้อเท็จจริง หมายถึง เหตุการณ์ที่เป็นมาหรือที่เป็นอยู่ตามจริง ข้อความหรือเหตุการณ์ที่จะต้องวินิจฉัยว่า เท็จหรือจริง ข้อมูลไม่นับเป็นวัตถุที่มีรูปร่าง โดยตัวอักษร ภาพ แผนผัง และตราสารเป็นเพียงสัญลักษณ์ที่ถ่ายทอดความหมายของข้อมูล ไม่ใช่รูปร่างของข้อมูล เมื่อกฎหมายบัญญัติว่า ทรัพย์เป็นวัตถุที่มีรูปร่าง ดังนั้น ข้อมูลในแผ่นบันทึกข้อมูล จึงไม่ถือเป็นทรัพย์ การที่ลูกจ้างนำแผ่นบันทึกข้อมูลมาคัดลอกข้อมูลของนายจ้าง จึงไม่เป็นความผิดฐานลักทรัพย์ (ฎีกา 5161/2547)

อย่างไรก็ตาม ลูกจ้างอาจมีความผิดตามกฎหมายอื่นได้ อาทิ กฎหมายคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา กฎหมายความลับทางการค้า เป็นต้น ดังนั้น เพื่อคุ้มครองประโยชน์ของนายจ้าง เมื่อลูกจ้างพ้นสภาพการเป็นพนักงาน นายจ้างและลูกจ้างควรตกลงถึงหน้าที่ของลูกจ้างให้ชัดเจน โดยเฉพาะหน้าที่ที่เกี่ยวกับการเก็บรักษาความลับของข้อมูลของนายจ้าง และการประกอบกิจการที่เป็นการแข่งขันกับนายจ้าง

ฉบับวันที่ 18 มกราคม 2564