นายจ้างบังคับให้เซ็นใบลาออก

นายจ้างบังคับให้เซ็นใบลาออก

บ่อยครั้งที่คดีในศาลเป็นการฟ้องเรียกค่าเสียหายเนื่องจากถูกเลิกจ้างโดยไม่เป็นธรรม เพราะอ้างว่านายจ้างบังคับให้ลาออกและขอให้เขียนจดหมายลาออกแบบยังไม่ลงวันที่ที่จะมีผลบังคับ แค่นี้จะถือว่าเป็นการลาออกโดยไม่สมัครใจใช่หรือไม่ หลักการเป็นอย่างไร เราย่อฎีกาสั้น ๆ ไว้ด้านล่างนี้ ดังนี้

‘ขณะอยู่ในห้องประชุม ลูกจ้างมีโอกาสและเวลาที่จะพิจารณา คิด ไตร่ตรอง ก่อนตัดสินใจดำเนินการตามเจตนารมณ์ของลูกจ้าง ทั้งลูกจ้างยังได้ต่อรองนายจ้าง ขอเพิ่มค่าชดเชย และเมื่อผู้แทนนายจ้างตกลงตามข้อเสนอของลูกจ้างจนเป็นที่พอใจแล้ว ลูกจ้างจึงกรอกข้อความในแบบฟอร์มใบลาออก และร่วมกับผู้แทนนายจ้างทำข้อตกลงสิ้นสุดสภาพการจ้าง พฤติการณ์ดังกล่าวจึงเป็นการที่ลูกจ้างยอมรับเงินแต่ละจำนวนและสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ ที่นายจ้างมอบให้ เพื่อเป็นข้อแลกเปลี่ยนในการตัดสินใจลาออกจากการเป็นลูกจ้างด้วยความสมัครใจ โดยนายจ้างไม่ได้ข่มขู่หลอกลวงลูกจ้างเพื่อเลิกจ้าง ดังนั้น พฤติการณ์ดังกล่าวจึงเป็นการลาออกด้วยความสมัครใจ ไม่ได้ข่มขู่หลอกลวง ไม่เป็นการเลิกจ้าง’ (คำพิพากษาฎีกา เลขที่ 191/2560)

จากฎีกาดังกล่าวจะเห็นได้ว่า หลักการสำคัญของการลาออกโดยสมัครใจคือ การที่นายจ้างให้อิสระแก่ลูกจ้างในการคิดทบทวนข้อเสนอต่าง ๆ ที่ลูกจ้างจะได้รับจากการลาออก ไม่ได้ถูกบีบบังคับ หรือตกอยู่ภายใต้สภาวะกดดัน ซึ่งการพิสูจน์ดังกล่าว นายจ้างอาจจัดให้มีพยานซึ่งไม่มีส่วนได้เสีย เข้าร่วมในการเจรจาและตกลงทำข้อสัญญาต่าง ๆ กับลูกจ้างในขณะทำความตกลงกับลูกจ้างได้

ฉบับวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2564