นายจ้างไม่มอบหมายงานให้ !
โดยปกติของสัญญาจ้างแรงงาน นายจ้างมุ่งหวังที่จะได้รับการทำงานจากลูกจ้าง โดยนายจ้างจะให้ค่าตอบแทนแก่ลูกจ้างสำหรับการทำงาน อย่างไรก็ดี หากนายจ้างไม่มอบหมายงานให้ทำ ลูกจ้างไม่มีงานทำ แต่ยังได้รับค่าจ้างตามปกติ ลูกจ้าง
จะดำเนินการอย่างไร วันนี้ เรามีคำพิพากษาของศาลเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวมาให้ลองพิจารณากัน
“การที่นายจ้างไม่มอบหมายงาน ทำให้ลูกจ้างเครียด ลูกจ้างจึงฟ้องเรียกค่าเสียหายจากการเสียศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ศาลวินิจฉัยว่าคำฟ้องดังกล่าวไม่อยู่ในอำนาจของศาลแรงงาน” คำพิพากษาศาลฎีกาปี 2551
“เมื่อไม่มีบทบัญญัติของกฎหมายกำหนดให้นายจ้างมีหน้าที่ต้องมอบหมายงานให้ลูกจ้างทำ และเมื่อไม่ปรากฎว่าสัญญาจ้างได้กำหนดให้นายจ้างมีหน้าที่เช่นนั้น ดังนั้น การที่นายจ้างจะมอบหมายงานให้ลูกจ้างทำหรือไม่ จึงเป็นสิทธิของนายจ้าง เมื่อนายจ้างจ่ายค่าจ้างให้ลูกจ้างแล้ว ลูกจ้างหามีอำนาจฟ้องขอให้ศาลพิพากษาให้นายจ้างมอบหมายงานให้ลูกจ้างทำไม่” คำพิพากษาศาลฎีกาปี 2525
จากคำพิพากษาดังกล่าวจะเห็นได้ว่า หลักการสำคัญที่ศาลหยิบยกขึ้นมาใช้ในการตัดสินคดี คือ กฎหมายแรงงานไม่มีบทบัญญัติให้นายจ้างต้องมอบหมายงานให้ลูกจ้างทำ ดังนั้นแล้ว หากนายจ้างไม่มอบหมายงานให้ ก็เป็นสิทธิของนายจ้าง
ตราบใดที่นายจ้างยังคงจ่ายค่าจ้างให้กับลูกจ้างตามปกติ ลูกจ้างก็ไม่มีสิทธิฟ้องให้นายจ้างมอบหมายงานให้ตนทำได้ อีกทั้งเรื่องดังกล่าวไม่ใช่การโต้แย้งสิทธิทางด้านแรงงาน ศาลแรงงานไม่มีอำนาจพิจารณาและพิพากษาคดีในลักษณะดังกล่าวได้
ฉบับลงวันที่ 30 พฤศจิกายน 2563