ผลทางกฎหมายกับการกู้เงินออนไลน์ (22/2/2564)

ผลทางกฎหมายกับการกู้เงินออนไลน์

มาตรา 653 ของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ กำหนดไว้ว่า การกู้ยืมเงินเกินกว่า 2,000 บาท จะต้องทำเป็นหนังสือและลงลายมือชื่อของผู้กู้ ถึงจะสามารถใช้ฟ้องบังคับคดีกันได้ แต่ในปัจจุบัน การติดต่อสื่อสารผ่านสื่อออนไลน์มีบทบาทสำคัญและกำลังจะเข้ามาแทนที่การทำเอกสารธรรมดา ดังนั้น การกู้ยืมเงินออนไลน์จะต้องทำอย่างไรเพื่อให้ถือว่าเป็นหลักฐานตามกฎหมายซึ่งสามารถใช้ฟ้องร้องบังคับคดีกันได้ พ.ร.บ. ว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. 2544 ได้วางหลักเกณฑ์ที่สำคัญเอาไว้ดังนี้

1.ข้อความนั้นจะต้องเป็นข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ที่ (ก) เข้าถึงได้ (เช่น ไม่ติดรหัสของระบบรักษาความปลอดภัย หรือถ้าติดก็สามารถปลดได้) และ (ข) นำกลับมาใช้ได้โดยที่ความหมายไม่เปลี่ยนแปลง (เช่น ภาพคัดลอกข้อความที่เป็นบทสนทนาออนไลน์ซึ่งคู่สัญญาทั้งสองฝ่ายได้ตกลงรับทราบการกู้ยืมเงิน หรือบทสนทนาที่กระทำผ่านระบบรักษาความปลอดภัยที่ป้องกันไม่ให้มีการแก้ไขข้อความ)

2.วิธีการในการลงลายมือชื่อทางอิเล็กทรอนิกส์จะต้องระบุตัวตนของเจ้าของลายมือชื่อได้ (เช่น รูปภาพหรือ เครื่องหมายที่สามารถระบุตัวตนผู้ใช้)

สรุปง่าย ๆ บทสนทนาที่มีการกู้ยืมเงินซึ่งทำผ่านสื่อออนไลน์ หากเป็นข้อความที่ระบุชื่อผู้ขอยืมเงิน (User Account) ข้อความการขอยืมเงิน และจำนวนเงิน โดยไม่มีการแก้ไขข้อมูล วันและเวลาที่มีการส่งข้อความ รวมทั้งมีการแนบสำเนาบัญชีธนาคารของผู้กู้ และหลักฐานการโอนเงินหรือสลิปการโอนเงิน จะถือว่าเป็นการกู้ยืมเงินที่ทำเป็นหนังสือตามที่กฎหมายกำหนดแล้ว

ที่มา : คำพิพากษาศาลฎีกา ที่ 8089/2556 และ 6757/2560, สำนักงานปลัดกระทรวงยุติธรรม

ฉบับวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2564