***Legal Alert*** : CONVERTIBLE DEBENTURE BY LIMITED COMPANY (4/6/2564)

***Legal Alert***

ท่านรู้หรือไม่ว่าบริษัทจำกัด (Limited Liability Company) สามารถออกหุ้นกู้แปลงสภาพ (Convertible Debenture) ได้ตามกฎเกณฑ์และประกาศของสำนักงาน ก.ล.ต.

แต่มันสามารถทำได้จริงในทางปฏิบัติหรือไม่

มาตรา 1229 ของ ป.พ.พ. กำหนดว่า บริษัทจำกัดจะออกหุ้นกู้ (Debenture) ไม่ได้ นั่นหมายความว่า แหล่งเงินทุนของบริษัทจำกัดนั้นจะได้มาแต่เพียงจากการเพิ่มทุนจดทะเบียน (Equity Financing) และการกู้ยืมเงิน (Loan) เป็นหลักเท่านั้น ไม่สามารถออกตราสารหนี้เพื่อระดมเงินทุนจากบุคคลอื่นได้ (Debt Financing)

อย่างไรก็ตาม มาตรา 37 แห่งพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 อนุญาตให้บริษัทจำกัดสามารถออกหุ้นกู้ได้หากได้รับอนุญาตจากสำนักงาน ก.ล.ต. และ ณ ปัจจุบัน สำนักงาน ก.ล.ต. ได้ประกาศกำหนดหลักเกณฑ์ในการเสนอขายหุ้นกู้ และหุ้นกู้แปลงสภาพโดยบริษัทจำกัดไว้แล้ว ซึ่งถือเป็นการเพิ่มช่องทางในการระดมทุนให้แก่บริษัทจำกัด โดยเปิดโอกาสให้บริษัทจำกัดสามารถออกและเสนอขายหุ้นกู้ หรือหุ้นกู้แปลงสภาพเพื่อขายให้แก่นักลงทุนได้


เงื่อนไขที่สำคัญคือ

(1) บริษัทจำกัดนั้นต้องเป็นบริษัทจำกัดขนาดกลางและขนาดเล็กที่ได้ลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการส่งเสริมการระดมทุนผ่านตลาดทุนระหว่างสำนักงาน ก.ล.ต. และสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (“สสว.”)ไว้แล้ว

(2) ต้องเสนอขายให้แก่ผู้ลงทุนในวงจำกัดเฉพาะกลุ่ม (Private Placement) ไม่สามารถโฆษณาเสนอขายต่อสาธารณชนเป็นการทั่วไปได้

(3) ต้องมีการแจกข้อมูล Factsheet ให้แก่ผู้ลงทุนเพื่อพิจารณาตัดสินใจ และ

(4) ต้องรายงานผลการขาย หรือผลการใช้สิทธิแปลงสภาพของหุ้นกู้แปรสภาพนั้นมาที่สำนักงาน ก.ล.ต. ภายในระยะเวลาที่กำหนดด้วย

เรามาทำความเข้าใจกันสักนิดก่อนดีกว่าว่าหุ้นกู้คืออะไร แล้วทำไมถึงต้องถูกกำกับดูแลโดยสำนักงาน ก.ล.ต. ด้วย

หุ้นกู้เป็นตราสารหนี้ (Debt Instrument) ที่บริษัทออกให้แก่ผู้ให้กู้ยืมเงินแก่บริษัทผู้ออก โดยผู้ถือหุ้นกู้จะมีสถานะเป็นเจ้าหนี้ (Creditor) ของบริษัทผู้ออก ปกติหุ้นกู้จะถูกออกมาเป็นหลายๆ หน่วยซึ่งแต่ละหน่วยจะมีค่าเท่าๆ กัน โดยจะกำหนดผลประโยชน์ตอบแทนล่วงหน้าในอัตราเท่ากันทุกหน่วยเพื่อเสนอขายให้แก่สาธารณชนเป็นการทั่วไป เป็นทางเลือกของบริษัทผู้ออกในการระดมทุนมาใช้ในกิจการแทนการเพิ่มทุน (เพราะผู้ซื้อหุ้นเพิ่มทุนจะได้รับหุ้นสามัญและเป็นเจ้าของส่วนของผู้ถือหุ้น (Equity) หรือทุนในบริษัท ซึ่งทำให้เกิดปัญหา Dilution ในสัดส่วนผู้ถือหุ้นเดิม) และแทนการกู้ยืมเงินจากสถาบันการเงิน (เพราะดอกเบี้ยจากการกู้ยืมเงินจากธนาคารอาจสูงกว่าอัตราดอกเบี้ยที่ให้แก่ผู้ถือหุ้นกู้) เมื่อเป็นเช่นนี้ สำนักงาน ก.ล.ต. จึงเข้ามาดูแล เนื่องจากถือเป็นการระดมทุนจากประชาชนประเภทหนึ่ง

ส่วนหุ้นกู้แปลงสภาพก็คือตราสารหนี้ที่ให้สิทธิผู้ถือในการเปลี่ยนจากหุ้นกู้เป็นหุ้นสามัญของบริษัทผู้ออกได้ตามราคาและเงื่อนไขที่กำหนด ตอนแรกผู้ถือจะมีสถานะเป็นเจ้าหนี้ของบริษัท แต่เมื่อมีการใช้สิทธิแปลงสภาพแล้ว บริษัทจะออกหุ้นสามัญในจำนวนที่มีมูลค่าเท่ากันกับตราสารหนี้นั้นให้แก่ผู้ถือ แล้วสถานะของผู้ถือตราสารหนี้ดังกล่าวก็จะเปลี่ยนจากเจ้าหนี้เป็นผู้ถือหุ้นของบริษัทผู้ออก

ความแตกต่างหลักระหว่างหุ้นกู้ และหุ้นกู้แปลงสภาพ คือผลประโยชน์หรือค่าตอบแทนที่ผู้ถือจะได้รับจากบริษัทผู้ออก

ค่าตอบแทนที่ผู้ถือหุ้นกู้จะได้รับนั้น คือดอกเบี้ยที่กำหนดไว้ตายตัวล่วงหน้า โดยไม่ขึ้นอยู่กับผลประกอบการของบริษัทผู้ออก และผู้ถือหุ้นกู้จะไม่สามารถเข้ามาเป็นผู้ถือหุ้นหรือเจ้าของบริษัทได้หากในอนาคตบริษัทผู้ออกมีความก้าวหน้าหรือมีผลประกอบการที่ดี

ส่วนผู้ถือหุ้นกู้แปลงสภาพนั้น นอกจากที่จะได้รับดอกเบี้ยที่กำหนดไว้แล้ว อาจยังสามารถใช้สิทธิแปลงสภาพเพื่อให้ตนมีสถานะเป็นผู้ถือหุ้นของบริษัทผู้ออกได้เมื่อเห็นว่าบริษัทมีมีผลประกอบการที่ดี หรือเมื่อราคาหุ้นของบริษัทผู้ออกสูงกว่าราคาที่กำหนดไว้ในการแปลงสภาพ เมื่อเป็นผู้ถือหุ้นแล้วก็จะสามารถได้รับผลประโยชน์จากบริษัทผู้ออกในรูปของเงินปันผล และอาจได้กำไรจากการขายหุ้นนั้นในอนาคตอีกด้วย

ไว้เรามาคุยกันต่อว่าการออกหุ้นกู้แปลงสภาพโดยบริษัทจำกัดนั้น มีข้อจำกัดในทางปฏิบัติอย่างไรในฉบับหน้าครับ

สามารถดูข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่

https://www.sec.or.th/TH/Pages/LAWANDREGULATIONS/SME-PP.aspx

****เนื้อหาข้างต้นเป็นความเห็นของผู้เขียนเท่านั้น***